The King's Philosophy
เศรษฐกิจพอเพียง
“...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”
พระราชดำรัส พระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา
จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542
“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคง พร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”
พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
ณ หอประช ุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
![image002-37.jpg](https://static.wixstatic.com/media/422f46_3c42ab804f674a029aa3d8f6d13e91e7~mv2.jpg/v1/fill/w_567,h_405,al_c,q_80,enc_avif,quality_auto/image002-37.jpg)
“...ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ บอกว่าล้าสมัยจริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้...”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร